Friday 4 September 2009

กล่องหินกับร่างทรง

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

"กล่องหินกับร่างทรง" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : 3 ตุลาคม 2549 15:08 น.

ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีที่จังหวัดตาก พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักโบราณคดีอิสระผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว มีประสบการณ์ตรงในพื้นที่มาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องราวของคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ทุ่มเทความหวังกับ 'ตัวเลขนำโชค' ผ่านปรากฏการณ์ใบ้หวยและคนทรงเจ้า

“เข้าแล้ว! ท่านประทับทรงแล้ว”
เสียงหญิงวัยกลางคนรายหนึ่งดังแทรกความเงียบขึ้นมาท่ามกลางวงล้อมของเหล่าชาวบ้าน เมื่อร่างของหญิงวัยกลางคนในชุดนุ่งขาวห่มขาวสั่นกระตุกอย่างแรง
“ท่านชื่ออะไรคะ” หญิงคนหนึ่งค่อยๆ ถาม เมื่อทุกอย่างกลับสู่ความสงบ
“ข้าชื่อปู่โฉม พวกเจ้ามีอะไรถึงได้เรียกข้ามา” ปู่โฉมในร่างคนทรงเจ้าถามด้วยเสียงอันแข็งกร้าว
“พวกหนูเดือดร้อนค่ะ จนเหลือเกิน ไม่มีเงินใช้อยากให้ท่านช่วยค่ะ” หญิงวัยกลางคนที่ดูจะเคยชินกับพิธีกรรมขอหวยร้องถามปู่โฉมด้วยเสียงอ่อนน้อม
ร่างของคนทรงที่สั่นอยู่ตลอดเวลานิ่งไป ไม่ถึงนาทีมีเสียงดังตอบกลับมา
“ได้”
ปู่โฉมบรรจงเขียนตัวเลขลงบนกระดาษ คนนับร้อยต่างกรูกันเข้ามาขอเลขเด็ดพร้อมกับเงินในมือคนละ 10-20 บาท หรือมากกว่านั้นตามกำลังศรัทธา



-1-

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังประจบ ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งขุดค้นพบโบราณวัตถุทำจากหินมีรูปร่างคล้ายโลงศพ โดยอาจเรียกว่า 'กล่องหิน' เครื่องประกอบพิธีกรรมของคนในวัฒนธรรมหินใหม่ที่มีอายุกว่า 3,000 ปี มาแล้ว
รูปแบบพิธีกรรมเช่นนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของประเทศไทย ปริศนากล่องหินบ้านวังประจบจึงนำมาสู่คำถามต่างๆ มากมาย
แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบอยู่ใกล้กับถนนบนเส้นทางตาก-สุโขทัย ตัวแหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนเนินดินไม่สูงนัก ริมน้ำแม่ระกาซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง
กล่องหินที่ขุดค้นพบมีขนาดยาว 190 เซนติเมตร กว้าง 70 เซนติเมตร ทำจากแผ่นหินดินดานขนาดใหญ่หลายแผ่นนำมาเรียงประกอบกันเป็นกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หินปูพื้นด้านล่างขัดตกแต่งเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม รอยต่อระหว่างแผ่นหินปูพื้นมีการขัดจนเรียบเข้ากันสนิท ส่วนด้านบนใช้แผ่นหินขนาดเล็กใหญ่ปูทั่ว ภายในตัวกล่องหินพบภาชนะดินเผาเนื้อดิน(หม้อดิน) ประมาณ 5 ใบ ตกแต่งด้วยลายขูดขีดและเคลือบน้ำดิน สภาพชำรุดมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชื้น และการแตกหักจากการที่หินที่ปิดด้านบนหล่นทับ เป็นไปได้ว่าเดิมพื้นที่ภายในกล่องหินน่าจะไม่มีดินบรรจุอยู่ หลักฐานสำคัญที่พบอีกชิ้นคือกำไลหินขัด
สิ่งที่สร้างปริศนาของการค้นพบครั้งนี้คือ ภายในตัวกล่องหินไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากล่องหินมีหน้าที่เป็นโลงศพ ตลอดการขุดค้นได้มีการทดสอบดินทั้งภายในตัวหม้อดินทุกใบและดินที่พบภายในกล่องหินหลายจุดเพื่อตรวจหาค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ด้วยน้ำยาทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าดินทั้งหมดเป็นกรดอ่อน แสดงว่าไม่มีการนำเถ้ากระดูกมาบรรจุไว้ภายในกล่องหิน
ดังนั้น ทั้งประเด็นของการใช้กล่องหินเป็นที่ประกอบพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่หนึ่งคือการฝังทั้งโครง และการฝังศพครั้งที่สองคือการนำเถ้ากระดูกไปบรรจุจึงต้องตัดออกไปทั้งหมด อย่างไรก็ดีผลการทดสอบค่าความเป็นกรดด่างของดินทั้งหมดนี้เป็นการทดสอบเบื้องต้น ซึ่งคงจะต้องมีการนำดินไปทดสอบในห้องปฏิบัติการต่อไป
กล่องหินที่มีลักษณะคล้ายกับที่บ้านวังประจบถูกค้นพบในหลายประเทศ ในประเทศไต้หวันพบทางตอนใต้ของเกาะในชื่อ 'แหล่งโบราณคดีไปหนาน' (Peinan) ทำจากแผ่นหินมาเรียงต่อกันเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีโครงกระดูกมนุษย์ มีอายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว จัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหม่ ในเกาหลีใต้พบโลงศพมีลักษณะแบบกล่องหินในวัฒนธรรมสำริด ส่วนในประเทศอินเดียตอนใต้พบโลงศพทำเป็นกล่องหินแต่ก็มีลักษณะที่ค่อนข้างแตกต่างจากกล่องหินวังประจบอย่างมากโดยจัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหม่ (megalith)
ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย เคยพบกล่องหินนี้ในประเทศศรีลังกา และได้ให้ความเห็นว่ากล่องหินที่บ้านวังประจบน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ 2,500-3,500 ปีมาแล้ว แม้ไม่อาจสรุปได้ว่ากล่องหินบ้านวังประจบทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมบางอย่าง เช่น พิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ เป็นต้น
กล่องหินนี้ทำจากช่างผู้ชำนาญในสังคม ผู้คนในสังคมนี้มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมเฉพาะ ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แหล่งที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีไปบ้างแล้วคือ 'แหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่ม'

-2-
ในส่วนปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับแหล่งโบราณคดีในพื้นที่นี้ พบว่าการขุดค้นในวันที่หนึ่งและสอง (วันที่ 12-13 กรกฎาคม 2549) ยังมีคนมาไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนบ้านวังประจบและชาวบ้านในละแวก วันที่สามเป็นวันที่เริ่มมีคนมามากที่สุด ชาวบ้านยืนล้อมหลุมจนแสงสว่างและอากาศแทบไม่สามารถลอดเข้ามาได้ ทำให้การทำงานยากลำบากมาก
สิ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนสนใจมาดูกันอย่างมหาศาลในวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เป็นผลจากข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า ‘มีการค้นพบโลงศพหิน ที่บ้านวังประจบ จ.ตาก’ ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์นั้นๆ ยังไม่รู้แน่ว่าสิ่งที่ตนเห็นเป็นโลงศพหรือไม่ เพราะดินในหลุมขุดค้นยังไม่ได้ถูกขุดออกมาหมด อย่างไรก็ตามผู้คนจากทั่วสารทิศที่เดินทางมาส่วนหนึ่งมาด้วยความสงสัยอยากรู้ และอีกส่วนต้องการมาบูชากล่องหินเพื่อขอความเป็นมงคล และมองหาเลขเด็ด
ช่วงเช้าของวันดังกล่าว แผ่นหินหลายแผ่นที่ปูบนตัวกล่องหินถูกนำออก ดินถูกขุดออกมา พบหม้อดินและกำไลหินภายในโดยไม่พบโครงกระดูกและเถ้ากระดูกมนุษย์ แต่ฉากที่ทุกคนรอคอยเป็นผลมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในละแวกนั้นที่เชื่อว่าใต้แผ่นหินปูพื้นในกล่องหินน่าจะมีโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่
แม้วันนั้นสายฝนจะกระหน่ำลงมาแต่ไม่มีใครถอย ทุกคนรอคอยการเปิดแผ่นหินปูพื้น ใกล้บ่ายสามโมงเย็น แผ่นหินถูกเปิดขึ้นพร้อมกับผู้คนที่มามุงล้อมมากขึ้น ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์แต่อย่างใด!
ผู้คนจากทั่วสารทิศต่างแยกย้ายกลับไปตามทิศทางที่ตนมาราวกับไม่เคยมีใครมาเยือนสถานที่นั้นมาก่อน ทิ้งไว้แต่เศษขยะมากมาย
ตามหลักการแล้ว ภายหลังการขุดค้นเสร็จสิ้นควรจะต้องมีการกลบหลุมขุดค้นเพื่อป้องกันการพังทลายของโบราณวัตถุและหลุมขุดค้น แต่ในครั้งนี้ไม่เป็นเช่นนั้น หลังจากปรึกษากันหลายฝ่ายทั้งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบนาม ทรงวิทย์ ศิริวิโรฒน์ นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้แก่ อรพินธุ์ การุณจิตต์ และนาตยา ภูศรี มีการตกลงกันว่าจะยังไม่ทำการกลบหลุมขุดค้นเพื่อให้คนที่สนใจมาเยี่ยมชม แม้จะหวั่นเกรงว่าอาจมีการลักลอบขุดเปิดกล่องหินขึ้นมาอีกครั้งเพื่อขูดหวยขอเลข เพราะอีกเพียง 2 วัน จะเป็นวันหวยออก
การทำงานโบราณคดีภาคกลางวันเสร็จสิ้นลง ทว่าภาพชีวิตภาคกลางคืนกำลังเริ่มขึ้น
ตู้บริจาคเงิน ธูปเทียน และเทียนเล่มใหญ่ขนาดเทียนพรรษาถูกนำมาตั้งในพื้นที่ เสื่อผืนใหญ่ปูเรียบตรงหน้าหลุมขุดค้น ศาลผีมีเครื่องเซ่นอย่างดีตั้งบูชา ควันธูปลอยตลบอบอวลไปทั่ว ดินแดนที่เคยเงียบเหงากลับคึกคัก บ้านต่างๆ เปิดไฟสว่างไสว รถเข็นขายของกินของใช้เข้ามาร่วมวงรองรับจำนวนคนมากมาย
คืนนั้นเป็นคืนแรกที่มีการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าประทับทรง พร้อมกับความขัดแย้งระหว่างคนทรงเจ้ากับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากคนทรงเจ้าได้ต่อว่าว่า “การขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้ทำไม่ถูกต้อง เป็นการรบกวนผู้ตาย” เจ้าหน้าที่ อบต.พยายามชี้แจงว่าก่อนขุดค้น คณะนักโบราณคดีได้ทำการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว หลังต่อปากต่อคำสักพักการทรงเจ้าก็ดำเนินต่อไป ชาวบ้านต่างได้เลขเด็ดกันถ้วนหน้า

-3-
คืนวันที่ 15 กรกฎาคม วันก่อนหวยออก เป็นวันที่ผู้คนแห่แหนกันมาล้อมหลุมขุดค้นมากที่สุด ไม่ต่างจากงานวัดหรือมหกรรมลดราคาสินค้า
เที่ยงคืนเศษร่างทรงเริ่มมาลงประทับ เป็นหญิงวัยกลางคนอีกเช่นกัน วิญญาณที่เข้าประทับทรงครั้งนี้ไม่ใช่เจ้าปู่หรือเทพยดาองค์ใด แต่เป็นทหารญี่ปุ่น! ตามประวัติพื้นที่ชาวบ้านต่างเชื่อว่าบริเวณนี้เคยเป็นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นก่อนเดินทางเข้าไปรบในพม่า
ร่างทรงเอ่ยกับนักโบราณคดีที่ถูกเรียกให้เข้าไปนั่งตรงหน้าว่า
“ขอบใจมากนะที่มาปลดปล่อยเรา” คำพูดนี้ทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการขุดค้นครั้งต่อไปอาจเริ่มต้นได้ยาก
หญิงคนหนึ่งที่นั่งถัดไปทางด้านหลังกระซิบให้ถามร่างทรงว่าตายเมื่ออายุเท่าไร นักโบราณคดีทำตามคำเรียกร้องนั้น
“ถ้าเราตอบไปท่านจะฟังรู้เรื่องไหม เพราะเป็นอีกภาษาหนึ่ง” ร่างทรงตอบกลับมา
“ไม่เป็นไรครับ ผมพอฟังภาษาญี่ปุ่นได้”
หลังจากตอบไปแล้ว ร่างทรงนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนจะพูดว่า “เราตายเมื่อปีสองพัน...”
ร่างทรงพูดได้เพียงแค่นั้นแล้วทำเสียงครืดคราดในลำคอสักพัก ก่อนจะพูดต่อว่า
“เราจำไม่ได้แล้ว เราตายมานานมากแล้ว”
ไม่มีใครซักถามต่ออีกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ร่างทรงกล่าวขอบคุณนักโบราณคดีอีกครั้งที่ช่วยขุดกล่องหินและปลดปล่อยเขา ไม่นานนักวิญญาณทหารญี่ปุ่นก็ออกจากร่างไป แล้วมีเจ้าองค์ใหม่ลงมาประทับในร่างทรงคนเดิมต่อ
เกือบเที่ยงคืน พิธีกรรมขอเลขเด็ดยังดำเนินต่อไป ครั้งนี้เป็นพระสงฆ์มาใบ้หวยโดยใช้วิธีการเข้าฌาน สักพักได้ใบ้หวยด้วยเครื่องเซ่นและเขียนตัวเลขให้ชาวบ้าน...ไม่นานเงินทำบุญก็หลั่งไหลจนเต็มบาตรล้นขัน
แม้แต่เจ้าของที่ดินของแหล่งโบราณคดีก็กลายเป็นร่างทรงไปด้วย นี่อาจเป็นผลมาจากความเครียดและความกลัวที่จะถูกไล่ที่เพื่อขุดค้นทางโบราณคดี วันที่ 16 กรกฎาคม วันหวยออก ไม่ปรากฏผู้คนมาชุมนุมกันอีกทั้งกลางวันกลางคืน แต่มีข่าวว่าชาวบ้านถูกหวยกันหลายคน
วันรุ่งขึ้นคนถูกหวยนำหัวหมูหลายหัวมาเป็นเครื่องเซ่น คนทรงเจ้าพยายามแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ตอกย้ำว่าตนสามารถใบ้หวยได้ถูก
หากมองในแง่ความน่าจะเป็น การที่ร่างทรงใบ้หวยได้ถูกนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเลขที่ให้ประกอบด้วยเลขจำนวน 5 หลักไม่ซ้ำกัน ผู้คนเกินกว่า 100 คน พากันกลับตัวเลขเหล่านั้นไปมา และในที่สุดมีผู้โชคดี

-4-
จากการสอบถามชาวบ้านที่เดินทางมาร่วมพิธีกรรมทรงเจ้าพบว่า คนส่วนใหญ่มาเพื่อมาขอหวยและขอความเป็นสิริมงคล อีกส่วนหนึ่งเข้ามาชมพิธีกรรมทรงเจ้าโดยที่ตนไม่ได้เล่นหวย และอีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มเจ้าหน้าที่ เช่น ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อบต.วังประจบ
เมื่อได้สังเกตพฤติกรรมของผู้คนทำให้เกิดการปรับยุทธวิธีการทำงานขุดค้นทางโบราณคดี ด้วยการให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่พบกล่องหินเป็นแนวร่วมในการดูแล เริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดี เช่น วิธีการทำงานทางโบราณคดี และวัฒนธรรมของคนโบราณในยุคหินใหม่ รวมถึงการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ ในต่างประเทศให้ชาวบ้านได้รับรู้อย่างสม่ำเสมอ
เวลาผ่านไป ทีมขุดค้นกับชาวบ้านมีความสนิทสนมกันมากขึ้น นักโบราณคดีสามารถชี้แนะแนวทางการอนุรักษ์ และขอให้ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครเข้าไปขัดโบราณวัตถุเพื่อหาเลข รวมทั้งได้ให้ชาวบ้านที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับกล่องหินแล้วเป็นคนอธิบายให้ผู้มาเยี่ยมชมคนอื่นๆ ขณะเดียวกันชาวบ้านได้ช่วยดูแลความสะอาดของสถานที่ด้วย
กระนั้นปัญหาที่เกิดกับตัวแหล่งโบราณคดีก็คือมีน้ำใต้ดินซึมเข้ามาในหลุมขุดค้นและกล่องหิน ทั้งที่บริเวณนี้ตั้งอยู่บนจุดที่ค่อนข้างสูงของเนิน ชาวบ้านหลายคนพยายามตักน้ำไปใช้ลูบแขนแทนยา จนถึงดื่มกินเพื่อรักษาโรคภัย
ความไม่รู้ได้นำไปสู่การเชื่ออำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ พิธีกรรมการทรงเจ้าจึงกลายเป็นหนทางหนึ่งเพื่อบรรเทาภาวะของความไม่รู้ และเป็นโอกาสทองของคนทรงเจ้าที่เข้ามาทำหน้าที่คนกลางระหว่างโลกแห่งวิญญาณและชาวบ้าน โดยมีเลขเด็ดเป็นแรงจูงใจ
กล่องหินจึงถูกใช้ในฐานะของแหล่งพลังในการเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์และความแม่นยำของพิธีกรรมใบ้หวย
ข่าวหวยบ้านวังประจบแพร่สะพัดไปทั่วจังหวัดตาก จนถึงวันนี้ยังคงมีข่าวคนถูกหวยและถูกหวยกินควบคู่กัน นอกจากหวยงวดต้นเดือนและกลางเดือนแล้ว ในวันที่ 18-19 ของแต่ละเดือนจะมีการทรงเจ้าเพื่อขอหวยออมสิน (หวยออมสินออกทุกวันที่ 20 ของเดือน) และวันที่ 8-9 สำหรับหวย ธกส. ที่จะออกทุกวันที่ 10 ของเดือน ยังไม่นับรวมหวยเถื่อนอีกมากมาย รวมแล้วมีหวยที่ออกถูกต้องตามกฎหมายในแต่ละเดือน 4 ครั้ง เฉลี่ยทุก 7-10 วันในแต่ละเดือน

พิธีกรรมใบ้หวยในแหล่งโบราณคดีจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะหายไปจากสังคมไทย ตราบใดที่ผู้คนยังยึดติดกับค่านิยมเสี่ยงโชคด้วยตัวเลข


No comments:

Post a Comment