Monday 7 September 2009

ดงแม่นางเมือง - Subculture

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปดงแม่นางเมือง จ.นครสวรรค์ เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งกำลังขุดค้นทางโบราณคดีอยู่ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าสนใจอย่างมาก เพราะโดยปกติแล้ววัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่รับพระพุทธศาสนาเข้ามาอย่างเต็มที่แล้ว จะไม่นิยมการฝังศพเลย แต่ใช้การเผาศพตามความเชื่อของชาวพุทธโดยทั่วไป

ดังนั้น ศพจำนวนมากถึง 48 โครงที่ฝังอยู่ในเนินดินขนาดเล็กๆ จึงสะท้อนเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อย่อย (subculture) ของกลุ่มคนในวัฒนธรรมทวารวดี น่าสนใจมากครับ เพราะประเด็นนี้จะนำไปสู่การเข้าใจความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิมของคนในภูมิภาคนี้ก่อนที่จะรับพระพุทธศาสนาเข้ามา และความต่อเนื่องทางความคิดของคนปัจจุบันที่ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)

ความต่อเนื่องทางความคิดหรือความเชื่อที่ผมว่านี้คือ เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่าศพที่ถูกฝังจำนวนมากหรืออาจกว่าครึ่งเป็นศพเด็ก ซึ่งตรงกับความเชื่อของคนทางภาคอีสานและภาคตะวันตกที่ยังฝังศพเด็ก ไม่เผา เพราะอะไรผมไม่แน่ใจ ไม่เคยได้ยินจากปากใครสักทีว่าเพราะอะไร รู้แต่ว่าเพราะตายก่อนกำหนดหรือยังไม่ได้สร้างบุญจึงไม่เหมาะสมกับการเผา

เท่าที่ผมนึกได้ ในเชิงการวิเคราะห์ควรมีการวิเคราะห์เชิงสถิติ การวิเคราะห์โรคจากกระดูก และการศึกษาในเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnoarchaeology) จะทำให้แหล่งโบราณคดีน่าสนใจอย่างมาก แต่ปัญหาตอนนี้คือ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วนไม่เช่นนั้นนอกจากจะขาดทิศทางแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกทำลาย

วันหลังจะพยายามหาข้อมูลและวิเคราะห์ขยายความต่อ

อ.พิพัฒน์

No comments:

Post a Comment